ขุดคลองไทยแล้วประเทศไทยจะได้อะไร?
เขียนโดย รศ.ดร. สถาพร เขียววิมล
BSIE. (University of
Oklahoma) MSIE. (New Jersey Institute of Technology) Dr.Ing. (Universite De
Nice) France
คณะวิศวกรรมศาสตร์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ
วุฒิสภา
ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ ยุติธรรม และ สิทธิมนุษยชน
วุฒิสภา
คลองไทยเกิดขึ้นเมื่อใดจะเป็นคลองเดินเรือหลักของโลก
คลองไทยจะเป็นธงนำเศรษฐกิจของประเทศที่มั่นคง
ประเทศไทยตั้งอยู่บนทวีปเอเชียอาคเนย์
อยู่ระหว่างกลางของประเทศต่างๆ ที่มีประชากรมากที่สุด ทวีปเอเชียมีประชากรมากถึง 2
ใน 3 ของโลก จากประชากรทั้งโลกมีประมาณ 6,200 ล้านคน
โดยทำเลที่ตั้งของประเทศไทยมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ตั้งอยู่บนแนวเส้นทางเดินเรือของโลก
เรือขนส่งสินค้าต่างๆ ที่มาจากทางทิศตะวันตกทางฝั่งอันดามัน
เป็นเรือจากประเทศในทวีปยุโรป
และประเทศทางตะวันออกกลางที่จะเดินทางไปยังประเทศทางทิศตะวันออกทางด้านฝั่งอ่าวไทย
เช่น ประเทศเขมร ประเทศเวียดนาม ประเทศจีน ประเทศฮ่องกง ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี
และประเทศไต้หวัน หากมีคลองไทย
เรือเหล่านี้จะไม่ต้องแล่นเรืออ้อมไปถึงประเทศสิงคโปร์ ไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา
และยังสามารถย่นระยะทางได้ 1,000 - 1,400 กิโลเมตร หรือย่นระยะเวลาได้ 2-3 วัน
ดังนั้น ถ้าหากประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบในทางภูมิศาสตร์ของประเทศ
คลองไทยจะเป็นเส้นทางลัดของการเดินเรือจากทั่วโลก
จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินเรือทั้งหมดที่มาผ่านคลองไทยแต่ละปีหลายแสนล้านบาท
ผลดีเมื่อเรือมาใช้เส้นทางเดินเรือผ่านคลองไทย
จะเป็นการช่วยลดการใช้น้ำมันสำรองของโลกลงได้หลายหมื่นล้านบาร์เรลต่อปี นอกจากนี้
ยังเป็นการช่วยลดมลภาวะอากาศเสียของโลกลงได้อย่างมาก
เป็นผลดีต่อการลดภัยพิบัติทางธรรมชาติจากปัญหาสภาวะเรือนกระจก (Green House Effect)
ความได้เปรียบในทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่อยู่บนทำเลทองของโลก
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นเกาะที่มีขนาดเล็กแล้ว
ประเทศไทยยังมีทรัพยากรธรรมชาติที่เหนือกว่าประเทศสิงคโปร์มาก
จากความได้เปรียบของประเทศไทยที่อยู่ในแนวเส้นทางเดินเรือของโลก
ทำให้เรือที่ผ่านคลองไทยย่นระยะเวลาได้ถึง 2 - 3 วัน ในแต่ละเที่ยวซึ่งมีค่ามาก
เพราะจะลดค่าใช้จ่ายลง (เรือขนสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 5,000 TEU
จะเสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทต่อวัน)
ประเทศสิงคโปร์ซึ่งเป็นเกาะขนาดเล็กมีพื้นที่ประมาณ 670 ตารางกิโลเมตร
ขนาดเท่ากับเกาะภูเก็ต มีทรัพยากรธรรมชาติน้อยมาก
ของทุกอย่างแพงมากแม้แต่น้ำดื่มน้ำใช้ก็ยังต้องซื้อมาจากประเทศมาเลเซีย
แต่ด้วยความชาญฉลาดของประเทศสิงคโปร์ และมีผู้นำที่เสียสละ
มีความสามารถทำให้ประเทศสิงคโปร์ร่ำรวยได้จากการใช้ทำเลที่ตั้งของประเทศสร้างผลประโยชน์
เมื่อเรือผ่านช่องแคบมะละกา จะต้องแวะใช้บริการที่ท่าเรือของประเทศสิงคโปร์
สร้างความร่ำรวยมากมายให้กับประเทศสิงคโปร์อยู่ในทุกวันนี้ ปัจจุบันคนสิงคโปร์ 1
คนมีรายได้เท่ากับคนไทย 10 คน
ประเทศไทยขุดคลองไทยได้สำเร็จเมื่อใด
ก็จะสร้างผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจต่อประเทศได้อย่างมหาศาล
ถึงแม้น้ำมันของโลกจะหมดไปก็ตาม แต่การขนส่งสินค้าทางเรือก็จะยังคงความสำคัญ
ต่อการขนส่งสินค้าของทุกประเทศทั่วโลก
การขนส่งสินค้าทางเรือยังมีต้นทุนต่ำที่สุดสำหรับการขนส่งสินค้าจำนวนมากๆ
เรือเดินทะเลระหว่างประเทศขนาดใหญ่แล่นผ่านแวะประเทศใดก็ตาม
ก็จะก่อให้เกิดผลทางธุรกิจตามมามากมาย ดังนั้น
หากคลองไทยเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่บนสองฝั่งคลองไทยก็จะกลาย
เป็นเมืองเศรษฐกิจบนเส้นทางเดินเรือของโลก กระแสการเงินจากเงินตราต่างๆ
จากประเทศทั่วโลก จะหมุนเวียนสะพัดและไหลเข้าประเทศไทยมากมาย
เช่นเดียวกับเมืองท่าที่สำคัญต่างๆ ของโลก
คลองไทยจะเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าทางภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมหาศาล
ทันทีที่ประเทศไทยสร้างคลองไทยได้สำเร็จ จะมีการสร้างงานที่ยั่งยืนตามมามากกว่า 2
ถึง 3 ล้านงานได้อย่างถาวร
จะก่อผลประโยชน์มากมายถึงลูกถึงหลานของไทยนานเท่านานตลอดไป
ความเป็นไปได้นี้จะสำเร็จได้มากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับคนไทยทั้งประเทศที่จะต้องช่วยกันผลักดัน
ด้วยพละกำลัง ความสามารถ ความฉลาด
และที่สำคัญยิ่งจะต้องมีผู้นำของประเทศที่เสียสละจริงๆ เพื่อประเทศชาติ
ร่วมกันผลักดันอย่างจริงจัง ที่จะทำให้คลองไทยเกิดขึ้น
คลองไทยจะเป็นธงนำทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะนำความมั่งคั่งสร้างความเจริญมาสู่ประเทศไทยได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
ประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากคลองไทย
จากแผนที่สังเกตแนวเส้นทางการเดินเรือระหว่างประเทศเกือบทุกประเทศจะผ่านแนวคลองไทย
เพราะว่าประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างกลางสองมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
หากมีคลองไทยเกิดขึ้นจะทำให้ประเทศต่าง
ๆทั้งสองฝั่งทะเลของประเทศไทยได้มีเส้นทางลัดเดินเรือทะเลระหว่างประเทศที่สามารถย่นระยะทางได้
2,000 - 2,500 กิโลเมตรต่อเที่ยว ในการขนส่งสินค้าต่างๆ
ไปมาในระหว่างกลุ่มประเทศในเอเชียอาคเนย์ด้วยกันเอง
นอกจากจะเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว
ยังปลอดภัยจากปัญหาโจรสลัด เพราะไม่ต้องอ้อมผ่านเข้าช่องแคบมะละกา ตัวอย่างเช่น
เรือขนสินค้าจากประเทศอินเดียถ้าจะส่งสินค้าไปยังประเทศจีน
สามารถไปถึงประเทศจีนได้โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา
และยังย่นระยะเวลาเดินเรือได้ถึง 4 - 5 วัน
ถ้าใช้เรือขนาดใหญ่ขนาดแสนตันขนส่งสินค้าแต่ละเที่ยวจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า
100 ล้านบาทต่อเที่ยว ดังนั้น คลองไทยนอกจากจะนำความเจริญมาสู่ประเทศไทยแล้ว
ยังจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้กับกลุ่มประเทศต่างๆ
ในภูมิภาคเอเชียที่อยู่ทั้งสองฝั่งทะเลของประเทศไทย
โดยที่คลองไทยก็จะกลายเป็นเส้นทางเดินเรือหลักของประเทศในย่านเอเชียอาคเนย์โดยปริยาย
นอกจากเรือในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์
ก็จะยังมีเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจากทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา
กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และจากทั่วโลก
ก็ต้องการมาใช้คลองไทยด้วยเพื่อประหยัดค่าขนส่ง โดยเฉพาะทางด้านการท่องเที่ยว
คลองไทยจะขยายเส้นทางการท่องเที่ยวทางทะเลไปยังเมืองท่าสำคัญของหลายประเทศ
โดยไม่ต้องเสียเวลาอ้อมผ่านประเทศสิงคโปร์เหมือนปัจจุบัน
และจะปลอดภัยจากปัญหาโจรสลัดบริเวณช่องแคบมะละกา
จะทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวทางเรือจากทั่วโลกสนใจมาท่องเที่ยวยังประเทศไทยและประเทศต่างๆ
ในย่านเอเชียนี้มากขึ้น
ตามเส้นทางเดินเรือที่จะผ่านมีเมืองสำคัญในทางประวัติศาสตร์หลายแห่งในภูมิภาคนี้
ซึ่งจะเป็นเส้นทางที่มีสถานที่ท่องเที่ยวมากกว่าเส้นทางเดินเรือที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ความสำคัญของการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ
จากข้อมูลของสถาบันทางการเงินของโลก ได้แสดงถึงความสำคัญของการขนส่งทางทะเลว่า
มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมากเป็นต้นทุนของการขนส่งทั้งระบบทั่วโลกโดยตรง
ดังนั้น ตัวเลขสถิติปริมาณการขนส่งสินค้าต่างๆ ทางเรือจึงเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
ตามภาวะการขยายตัวของการค้าเสรีระหว่างประเทศมากขึ้นในปัจจุบันและในอนาคต
ปัจจุบันมีจำนวนเรือขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศต่างๆ มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก
ที่แล่นไปมาทางตอนใต้ของประเทศไทย และจำนวนเรือมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี
การขนส่งทางทะเลมากขึ้นเป็นผลทำให้ในบริเวณช่องแคบมะละกามีจำนวนเรือหนาแน่นมาก
ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางทะเลสูงมาก (เฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อเดือน)
โดยเฉพาะบริเวณเส้นทางเดินเรือที่ผ่านประเทศสิงคโปร์ มีความกว้างประมาณ 1.5 ไมล์
และปัญหาที่หวั่นวิตกกันมากของเรือสินค้าต่างๆ ที่แล่นเรือผ่านช่องแคบมะละกา คือ
ปัญหาผู้ก่อการร้ายและโจรสลัด จะมีการปล้นหรือเรียกค่าคุ้มครองเกือบทุกวัน
จากข้อมูลต่างๆ คงพอจะชี้ให้เห็นว่า
หากประเทศไทยสร้างคลองไทยได้สำเร็จจริงจะทำให้ประเทศไทยมีบทบาทมากต่อสังคมโลก
และธุรกิจการเดินเรือทั่วโลก
การเปรียบเทียบเส้นทางเดินเรือ
คลองไทย
กับเส้นทางปัจจุบัน
ปัจจุบันเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มาทางฝั่งทะเลอันดามันของไทย
จะเป็นเรือต่างๆ ที่มาจากยุโรปหรือตะวันออกกลาง และจะไปยังด้านฝั่งอ่าวไทย
มุ่งหน้าไปประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี ฯลฯ ปัจจุบันมีเส้นทางเดินเรือ 3
เส้นทางหลัก คือ (1) เส้นทางผ่านช่องแคบมะละกา (Malacca) (2)
เส้นทางผ่านช่องแคบซุนด้า (Sunda) และ (3) เส้นทางผ่านช่องแคบลอมบ็อค (Lombok)
จากเส้นทางเดินเรือดังกล่าวจะมีเรือผ่านไปมา ประมาณกว่า 1,200 - 1,400 ลำต่อวัน
(ประมาณ 520,000 ลำต่อปี) และมีเรือที่แวะใช้บริการท่าเรือ
ที่ท่าเรือประเทศสิงคโปร์ประมาณกว่า 600 ลำต่อวัน ซึ่งหนาแน่นมาก
ในปัจจุบันมีอุบัติเหตุเฉลี่ย 2-3 ครั้งต่อเดือน
และยังมีเรืออีกจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้เส้นทางผ่านที่ช่องแคบมะละกา
ก็เนื่องจากความลึกของร่องน้ำบริเวณช่องแคบมะละกาตื้น
โดยเฉพาะบริเวณที่จะผ่านประเทศสิงคโปร์มีความลึกเพียง 20 เมตร
และยังมีซากเรือที่จมหรือสิ่งของต่างๆ
ทับถมจมขวางอยู่ใต้ร่องน้ำท้องทะเลที่เรือผ่าน เรือขนาดใหญ่จึงไม่สามารถผ่านได้
ต้องแล่นเรืออ้อมเข้าผ่านเส้นทางช่องแคบซุนด้าและเส้นทางช่องแคบลอมบ็อค
จากแผนที่โลกจะเห็นว่า
เส้นทางที่ผ่านช่องแคบมะละกาจะเป็นเส้นทางที่มีระยะสั้นที่สุดสำหรับเส้นทางเดินเรือในปัจจุบัน
เมื่อเทียบกับส้นทางช่องแคบซุนด้าและเส้นทางช่องแคบลอมบ็อค
หากประเทศไทยสร้างโครงการคลองไทย
ได้สำเร็จจะทำให้เกิดเส้นทางเดินเรือโลกใหม่ เรือต่างๆ
จากประเทศในทวีปยุโรปและจากทางประเทศตะวันออกกลางจะแล่นตรงมายังฝั่งอันดามัน
ข้ามคลองไทยมายังฝั่งอ่าวไทยที่จะไปยังประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศไต้หวัน
ประเทศเกาหลีใต้ ฯลฯ ได้โดยไม่ต้องอ้อมไปยังช่องแคบทั้ง 3
ดังกล่าว
การเปรียบเทียบระยะทางและระยะเวลาของเส้นทางทั้ง 4 เส้นทาง
คือเส้นทาง 1.ผ่านคลองไทย 2.เส้นทางมะละกา 3.เส้นทางซุนด้า และ 4.เส้นทางลอมบ็อค
เปรียบเทียบได้ดังนี้ เส้นทางคลองไทย เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางช่องแคบมะละกา
(ผ่านประเทศสิงคโปร์) จะย่นระยะทางได้มากถึง1,200-1,400 กิโลเมตร และย่นระยะเวลาได้
2 - 3 วัน สำหรับเส้นทางคลองไทย
เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางเดินเรือที่ต้องแล่นผ่านช่องแคบซุนด้า จะย่นระยะทางได้
2,500 - 3,000 กิโลเมตร หรือย่นระยะเวลาได้ 4 - 5 วัน
และเปรียบเทียบเส้นทางคลองไทยกับเส้นทางที่แล่นผ่านช่องแคบลอมบ็อค จะย่นระยะทางได้
3,000 - 3,500 กิโลเมตร หรือย่นระยะเวลาได้ 5 - 7 วัน
(ความเร็วมาตราฐานสากลกำหนดให้เรือทะเลใช้ความเร็วที่แล่นผ่านช่องแคบหรือคลองจะใช้ความเร็วได้ไม่เกิน
12 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง หรือประมาณ 20
กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
จากการที่คลองไทยเกิดขึ้น จะช่วยเรือขนส่งสินค้าต่างๆ
ประหยัดค่าใช้จ่าย
จากที่ย่นระยะทางและเวลาของเรือขนส่งสินค้าแต่ละลำแต่ละเที่ยวหลายล้านบาทต่อลำต่อเที่ยว
ค่าใช้จ่ายของเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่แต่ละวันสูงมากกว่าที่คิด
ยิ่งหลังเหตุการณ์วินาศกรรมถล่มตึกเวิร์ลเทรด ในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน
2545 ปรากฏว่าค่าประกันการขนส่งสินค้าทางเรือเพิ่มสูงอีก 50 เปอร์เซ็นต์
ค่าใช้จ่ายเดินเรือขนสินค้าขนาด 8,000 TEU (ขนาดความยาวของตู้คอนเทนเนอร์
20 ฟุต) ไม่ใช่ 10 หรือ 20 ล้านบาทต่อวัน
ซึ่งในความเข้าใจของพวกเราก็อาจจะรู้สึกว่าแพงมากแล้ว
ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับกรรมการผู้จัดการบริษัทเดินเรือของบริษัทญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
บอกว่าค่าใช้จ่ายของเรือขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ยกตัวอย่างเช่น เรือ Panamax
เป็นเรือขนส่งบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 8,000 TEU ประมาณค่าใช้จ่ายทุกอย่างของเรือ
Panamax ประมาณ 6 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 240 ล้านบาทต่อวัน
(ผมสงสัยว่าทำไมถึงแพงมาก) ผู้จัดการของบริษัทเดินเรือญี่ปุ่น ให้ข้อสังเกตว่า
เรือขนสินค้าที่มีสินค้าอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์หากยิ่งมีมูลค่ามาก
ค่าประกันสินค้าก็จะยิ่งสูงมาก กรณีตัวอย่างเรือ Panamax ขนตู้คอนเทนเนอร์ขนาด
8,000 TEU ตู้คอนเทนเนอร์ หากสินค้าที่อยู่ในตู้แต่ละตู้มีมูลค่ากว่า 50,000
เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2 ล้านบาท) เมื่อคิดเป็นเงินบาท
มูลค่าของสินค้าในเรือทั้งหมดมูลค่าร่วมสองหมื่นล้านบาทต่อลำต่อเที่ยว
หากคิดค่าประกันภัยวันละ 0.5 เปอร์เซ็นต์
ของมูลค่าของสินค้าในเรือรวมทั้งตัวเรือด้วยก็ประมาณ 100 ล้านบาทต่อวัน
หากรวมค่าเสื่อมราคาของตัวเรือเมื่อใช้ไปได้ระยะ 8 ปี
มูลค่าของตัวเรือจะลดเหลือประมาณ 45% ของราคาเรือที่สร้างใหม่
โดยเฉลี่ยอายุการใช้งานของเรือ ประมาณ 25 ปี หากใช้เรือเก่าในการขนส่งสินค้า
ก็จะยิ่งเสียเพิ่มค่าประกันภัยสูง (เรือบรรทุกน้ำมันของบริษัท Exxon เรือชื่อ
Valdez เกิดอุบัติเหตุสร้างความเสียหายมาก
ถูกเรียกร้องให้จ่ายค่าชดเชยความเสียหายถึงแปดหมื่นกว่าล้านบาท หรือ $ 2 billion)
จากที่ได้ข้อมูล คงมองเห็นว่าเรือมีค่าใช้จ่ายสูงในแต่ละวันมาก
ถึงแม้ค่าใช้จ่ายของเรือในการเดินเรือแต่ละวันจะเท่าใดก็ตาม
ผู้ที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายนี้ก็จะต้องพยายามลดค่าใช้จ่ายทุกอย่าง
โดยเฉพาะเรื่องค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น การประหยัดเวลาเดินเรือ
แม้แต่หนึ่งชั่วโมงต่อเที่ยวก็มีความหมายมาก
เรือขนาดใหญ่แต่ละลำแล่นไปมาหลายเที่ยวต่อปีจะประหยัดเป็นพันล้านบาทต่อลำต่อปี
จากเหตุผลหลายอย่าง
เรือขนส่งสินค้าต่างๆ
จากประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะเรือที่วิ่งระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
จะต้องการนำเรือผ่านคลองไทย เพราะประหยัด ปลอดภัย
เจ้าของบริษัทเดินเรือต่างก็ต้องการลดค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด
ยกเว้นบริษัทเดินเรือของประเทศสิงคโปร์เท่านั้น (มิตรประเทศเพื่อนบ้าน)
เพราะเรือที่มาผ่านคลองไทยมีแต่ได้ไม่มีเสีย เรือขนาด 200,000 DWT (DWT
คือน้ำหนักเรือเปล่าหน่วยเป็นเมตริก) จ่ายค่าผ่านคลองไทยครั้งละ 20 ล้านบาท
ประหยัดกว่าเส้นทางเดิม 2 - 5 เท่าในแต่ละเที่ยว บริษัทเดินเรือพร้อมจ่ายอยู่แล้ว
ดังนั้น ความสงสัยที่ว่า เมื่อประเทศไทยขุดคลองไทยสำเร็จแล้ว
จะมีเรือเรือจากต่างประเทศมาใช้คลองไทยหรือไม่ มีคำตอบอยู่ในตัวแล้ว
สำหรับบรรดาผู้เป็นเจ้าของบริษัทเดินเรือทั่วโลก
ปัญหาโจรสลัดหรือผู้ก่อการร้ายบริเวณช่องแคบมะละกาเพิ่มค่าใช้จ่ายเรือสินค้า
ปัญหาโจรสลัดหรือผู้ก่อการร้าย
เพิ่มค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทหรือเจ้าของเรือ
จากความไม่ปลอดภัยของผู้ก่อการร้ายหรือโจรสลัดที่ทำการปล้นหรือเรียกค่าคุ้มครองกับเรือขนส่งสินค้าที่แล่นผ่านไปมา
ในบริเวณเส้นทางช่องแคบมะละกาที่มีการปล้นเรือสินค้าเป็นประจำ
เนื่องจากเส้นทางเดินเรือ ดังกล่าวต้องแล่นผ่านช่องแคบที่มีเกาะแก่งหลายแห่ง
ซึ่งเป็นการง่ายที่จะหลบซ่อนของผู้ก่อการร้ายและพวกโจรสลัด
ในทางกลับกันก็ยากต่อการที่จะกำจัดหรือป้องกันได้
เจ้าหน้าที่ที่ทำการเดินเรือคงไม่ต้อง
การความเสี่ยงในการต่อสู้กับพวกนอกกฎหมายเหล่านี้เป็นแน่
เพราะสินค้าในเรือมีมูลค่าหลายพันล้านบาท และเรือก็จำเป็นต้องใช้เส้นทางนั้นประจำ
คงหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าคุ้มครอง ในส่วนนี้
มูลค่าความเสียหายประเมินว่า เงินที่เรือเดินทะเลต่างๆ จะต้องเสียโดยรวมเฉลี่ยกว่า
40,000 ล้านบาทต่อปี
เมื่อเร็วๆ
นี้มีข่าวพูดถึงการมาเยือนของรัฐมนตรีกลาโหมประเทศสหรัฐอเมริกามาประเทศเอเชีย
โดยเฉพาะมาที่ประเทศสิงคโปร์
รัฐมนตรีกลาโหมของประเทศมาเลเซียไม่เห็นด้วยกับการที่สหรัฐฯ
จะส่งกองกำลังพิทักษ์ป้องกันการก่อการร้ายที่อาจจะก่อวินาศกรรมกับเรือสินค้า
โดยเฉพาะเรือน้ำมันที่มีถึง 36% ของเรือทั้งหมดที่แล่นไปมาในบริเวณช่องแคบมะละกา
ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยมีสูงมากขึ้น ทำให้ค่าการประกันต่างๆ
เพิ่มสูงขึ้นมากด้วย ถ้าคลองไทยเกิดขึ้นก็จะแบ่งเบาภาระนี้ได้
ทั้งเรือของประเทศไทยเองและเรือของต่างประเทศที่มาใช้คลองไทย
(ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มโจรสลัดปล้นสะดม เรือสินค้าบริเวณช่องแคบมะละกา
เฉพาะเดือนพฤษภาคม 2546 เกิดขึ้น 21
ครั้ง)
คลองไทยจะเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทย
คลองไทยจะส่งเสริมการท่องเที่ยว
ทำให้เป็นรายได้หลักของประเทศเหมือนประเทศอียิปต์ที่มีคลองสุเอช
ประเทศปานามามีคลองปานามา คลองไทยมีศักยภาพให้เรือผ่านได้มากที่สุดในโลก
ปัจจุบันมีเรือที่มีขนาดใหญ่กว่า 500 WDT (DWT คือ
น้ำหนักเรือเปล่าหน่วยเป็นเมตริก) ขึ้นไปมีประมาณกว่า 30,000 ลำ
ใช้บริการขนส่งในท้องทะเลระหว่างประเทศทั่วโลก
สำหรับในปัจจุบันมีคลองที่เรือระหว่างประเทศทั่วโลกใช้ผ่านได้ ขณะนี้มีอยู่ประมาณ
22 คลอง คลองที่หลายท่านรู้จักกันมากที่สุดคือ
คลองสุเอชและคลองปานามา
เมื่อปี พ.ศ. 2545 ผมและคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
ได้มีโอกาสเดินทางไปดูงานที่คลองทั้งสองแห่ง จากการที่ได้เห็นคลองที่สำคัญดังกล่าว
ทำให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ที่ได้ไปดูงานหลายท่าน ได้เกิดความรู้ ความเข้าใจ
และตั้งข้อสังเกตหลายประการขึ้น เช่น
คลองแต่ละแห่งทำให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่ารายได้จากค่าผ่านคลอง
รูปแบบของคลองควรเป็นคลองแบบคู่ขนาน และความเข้าใจที่ว่าคลองสุเอช และคลองปานามา
เป็นคลองที่มีเรือมาใช้มากที่สุดของโลกก็ไม่เป็นอย่างที่เข้าใจมาก่อน
ความสำคัญคลองสุเอช และคลองปานามา แต่ละคลองช่วยย่นระยะทางได้หลายหมื่นกิโลเมตร
ย่นเวลาได้เป็นเดือน
แต่ว่าความสามารถของคลองแต่ละแห่งมีจำกัดที่จะสามารถให้เรือแล่นผ่านได้
โดยเฉพาะคลองปานามา ซึ่งมีความยาว 82 กิโลเมตร
คลองใช้ระบบประตูน้ำปิดเปิดจำนวนเรือสามารถผ่านคลองปานามาได้เพียงวันละ 38 ลำ
แต่ละลำใช้เวลาผ่านคลอง 24 ชั่วโมง
และขนาดของเรือก็มีข้อจำกัดจะเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ได้ไม่เกิน 100,000 DWT
ขนาดเรือที่ผ่านได้จะมีความกว้างไม่เกิน 33 เมตรและความยาวไม่เกิน 295 เมตร
(ปัจจุบันประเทศปานามามีการลงทุนเพิ่มขยายคลองปานามา ใช้งบประมาณ 4000,000,000
เหรียญสหรัฐ หรือ 1 แสน 6 หมื่น ล้านบาท)
สำหรับคลองสุเอชคลองมีความยาว 190
กิโลเมตร คลองไม่ใช้ระบบมีประตูน้ำปิดเปิด จำนวนเรือสามารถผ่านได้ 87 ลำต่อวัน
คลองสุเอชสามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ได้ ซึ่งในปัจจุบันสำหรับเรือขนาดใหญ่ได้ถึง
300,000 DTW (ปัจจุบันคลองสุเอช มีการขยายการลงทุนในการขุดคลองคู่ขนานคลองสุเอช
ให้ยาวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 78 กิโลเมตร)
สำหรับคลองไทยแนวคลอง 9A
ความยาวคลอง 120 - 130 กิโลเมตร คลองไม่มีระบบประตูน้ำปิดเปิดแบบคลองสุเอช
จากการคำนวณคลองไทยจะสามารถรองรับเรือได้ประมาณวันละ 400 ถึง 450
ลำต่อวันในทางทฤษฎี ส่วนในทางด้านปฏิบัติจริง
ผมคาดว่าคลองไทยให้บริการได้ประมาณวันละ 300 -350 ลำต่อวัน คลองไทยก็มากแล้ว
ส่วนรูปแบบของคลองไทยจะเป็นคลองคู่ขนาน
โดยกำหนดให้คลองหนึ่งเป็นคลองสำหรับเรือแล่นเที่ยวขาไป
และอีกคลองหนึ่งแล่นเที่ยวขากลับ
คลองไทยสามารถให้เรือผ่านได้มากกว่าจำนวนเรือที่ผ่านคลองสุเอชรวมกับคลองปานามาประมาณ
3
เท่าต่อวัน
คลองไทยเพิ่มความมั่นคงของประเทศไทย
ความมั่นคงของสองฝั่งทะเลไทย
คลองไทยเพิ่มศักยภาพให้กองทัพเรือและกองทัพบกได้มากขึ้น ในปัจจุบัน
ถ้าดูแผนที่ประเทศไทยจะเห็นว่า ปากทางเข้าด้านอ่าวไทยจะเป็นทะเลปิด
เรือทุกลำที่ออกจากอ่าวไทยถ้าต้องการไปทางฝั่งอันดามัน เช่น จังหวัดสตูล
จังหวัดตรัง จังหวัดพังงา จังหวัดกระบี่ จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดระนอง
เรือไทยเราจะต้องผ่านน่านน้ำสากลของประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศเขมร ประเทศเวียดนาม
ประเทศมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศอินโดนีเซีย
หากมีคลองไทยเรือของไทยจะสามารถตัดตรงไปยังฝั่งอันดามันได้โดยตรง
คลองไทยจะทำให้ประเทศได้เปรียบในทางยุทธศาสตร์ทั้งในยามปกติและในยามสงคราม
การเคลื่อนย้ายกำลังรบของกองทัพจะสามารถกระทำได้รวดเร็ว ประหยัดงบประมาณ ปลอดภัย
มีความเป็นอิสระในการเดินเรือ โดยไม่ต้องผ่านน่านน้ำของประเทศข้างเคียง
ไม่สร้างความหวาดระแวงสงสัยกับประเทศเพื่อนบ้าน
ยังผลดีไม่ก่อปัญหาต่อความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้าน
ในปัจจุบันการเคลื่อนย้ายกำลังหรือการกระทำใดๆ
ของกองทัพทางทะเลในการเคลื่อนย้ายยากที่จะปลอดจากการรู้เห็นตรวจตราของประเทศข้างเคียง
หากเรามีปัญหาระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่เรือไทยต้องผ่านน่านน้ำ
อย่างกรณีประเทศมาเลเซีย เรือขนส่งน้ำมันดิบ หรือเรือขนส่งสินค้าต่างๆ
ทางทะเลของไทย จะต้องผ่านน่านน้ำของประเทศมาเลเซีย ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
หากยามใดมีปัญหาที่คาดไม่ถึง การขนส่งน้ำมันทางทะเลอาจจะถูกสะกัดกั้นได้ตลอดเวลา
ประเทศไทยจะเป็นอัมพาตแน่ๆ
เพราะเรือบรรทุกน้ำมันไม่สามารถนำน้ำมันมาส่งยังโรงกลั่นน้ำมันที่จังหวัดระยองและจังหวัดชลบุรีได้
การขนส่ง การผลิต และธุรกรรมต่างๆ
ทั่วประเทศจะมีผลกระทบอย่างรุนแรง
คลองไทยช่วยประหยัดเงินในการขนส่งสินค้าทางทะเล
(Logistics)
กว่าสองแสนล้านบาทต่อปี
เพื่อให้มองเห็นว่าคลองไทยจะทำให้ประเทศไทยมีการพัฒนาจัดระบบการขนส่ง
(Logistics) ของประเทศทางทะเลที่มีประสิทธิภาพ
จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางทะเลของประเทศได้มากเป็นแสนล้านบาทต่อปี เช่น
ปัจจุบันโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทย ใช้น้ำมันดิบประมาณวันละ 800,000 บาร์เรลต่อวัน
หากใช้เรือขนส่งน้ำมัน ขนาด 120,000 บาร์เรลต่อลำ ดังนั้น
จะต้องมีเรือวิ่งมาส่งน้ำมันดิบที่โรงกลั่นที่จังหวัดระยองหรือจังหวัดชลบุรี 7
ลำทุกวัน เรือส่งน้ำมันดิบเมื่อมาส่งแล้วต้องวิ่งเรือเปล่ากลับ
เท่ากับเรือต้องเดินเรือ 14 เที่ยวต่อวัน
น้ำมันดิบส่วนใหญ่จะมาจากประเทศทางกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง
หากเรือทุกลำในปัจจุบันต้องผ่านช่องแคบมะละกา ผ่านประเทศสิงคโปร์
ระยะทางจากประเทศสิงคโปร์ มายังโรงกลั่นในประเทศไทย มีระยะทางประมาณ 1,700 กิโลเมตร
รวมกับระยะทางจากประเทศสิงค์โปร์ มายังทางแยกก่อนจะเข้าช่องแคบมะละกา ไม่น้อยกว่า
1,300 กิโลเมตร รวมเป็นระยะทางประมาณ 3,000 กิโลเมตร ที่เรือจะต้องแล่นอ้อม
(ดูแผนที่ประกอบ ภาพที่ 2) ถ้าหากมีคลองไทย
เรือสามารถวิ่งตรงมายังโรงกลั่นในประเทศไทยจังหวัดระยอง ระยะทางประมาณ 700 กิโลเมตร
ซึ่งหมายความว่า เรือแต่ละเที่ยวจะสามารถย่นระยะทางเดินเรือได้ (3,000 - 700 =
2,300) หรือ 2,300 กิโลเมตร หากเรือแล่นที่ความเร็ว 12 ไมล์ทะเลต่อชั่วโมง (ประมาณ
20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) จะใช้เวลาประมาณเวลา 4 - 5 วัน
ที่เรือวิ่งแต่ละเที่ยวที่ต้องเสียเวลาเปล่าประโยชน์
หากประมาณค่าใช้จ่ายเรือขนน้ำมันขนาดดังกล่าวเสียค่าเช่าเรือ ค่าน้ำมัน
รวมทั้งค่าประกันภัยต่างๆ ในการเดินทางประมาณ 2 - 3 แสนเหรียญสหรัฐต่อวันต่อลำ
หรือประมาณ 5 - 6 ล้านบาทต่อวัน สรุปค่าใช้จ่ายของเรือน้ำมัน
ถ้าหากมีคลองไทยเกิดขึ้นจริง คลองจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงคำนวณคร่าวๆ คือ
(เรือวิ่งไปกลับรวม 14 เที่ยวต่อวัน คูณด้วย ค่าใช้จ่ายวันละ 5 ล้านบาท ต่อวัน
คูณด้วย เรือเสียเวลาอ้อม 4 วันต่อเที่ยว คูณด้วย 365 วันต่อปี จะเท่ากับ 14 x 5 x
4 x 365 = 102,200 ล้านบาทต่อปี) หมายเหตุ
ตัวเลขทั้งหมดเป็นการคำนวณแบบคร่าวๆ
จากการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายในด้านการขนส่งน้ำมันของประเทศไทยอย่างเดียวก็ทำให้ประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากมาย
ถ้าเรามองลึกลงไปถึงการขนส่งสินค้าต่างๆ ที่ยังมีอีกมากที่จะทำให้ลดค่าใช้จ่าย เช่น
เรือสินค้าขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ ที่มาใช้บริการขนถ่ายผ่านท่าเรือของไทย
ที่แหลมฉบังหรือท่าเรือกรุงเทพฯ ทั้งหมดปีละประมาณ 4 ล้านกว่าตู้คอนเทนเนอร์ (TEU)
ถ้าลดค่าใช้จ่ายตู้ละ 1,000 ดอลลาร์ จะลดได้ค่าใช้จ่ายได้แสนกว่าล้านบาทต่อปี
ถ้าเรานำความเป็นไปได้ในหลายๆ กรณีมาศึกษาวิเคราะห์
เราอาจจะเห็นความสูญสียเงินของประเทศอย่างน่าใจหาย
ค่าใช้จ่ายในระบบการขนส่ง
(Logistics) ของประเทศไทยโดยรวมสูงถึง 25% - 30% ของมูลค่าผลิตภัณท์มวลรวมของประเทศ
(GDP) หรือประมาณ 1,500,000 ล้านบาท ถึง1,800,000 ล้านบาทต่อปีในขณะที่ประเทศจีน
20% ประเทศญี่ปุ่น 11% ประเทศสหรัฐอเมริกา 10% และในกลุ่มประเทศยุโรปประมาณ 7%
จากผลการสำรวจทั่วโลกของกระทรวงเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น
(Meti)
คลองไทยขยายโอกาสทางด้านการประมงไทย
คลองไทยจะขยายโอกาสให้ชาวเรือประมงไทยมีท้องทะเลหาปลาได้มากขึ้นที่ได้ประโยชน์จากน่านน้ำสากลของไทย
EEZ2 (ภาพที่4) จากทางฝั่งทะเลอันดามัน
ซึ่งเป็นแหล่งอาหารทางทะเลที่สมบูรณ์ที่สุดมีพื้นที่กว้างขวางกว่าพื้นที่ภาคอีสานทั้งภาค
มีเขตชายแดนไปถึงน่านน้ำอินเดียเรือประมง ที่อยู่ใน อ่าวไทยและฝั่งอันดามันกว่า
50,000 ลำ ก็จะได้รับประโยชน์จากคลองไทยในการเดินเรือไปมาระหว่างสองฝั่งทะเลไทย
จะลดภาระค่าใช้จ่ายด้านค่าน้ำมันในการเดินเรือมาก
ทำให้มีเวลาเพิ่มในการทำประมงทางทะเลมากขึ้น โดยเฉพาะเรือประมง
จะมีความปลอดภัยจากการถูกจับของประเทศข้างเคียง เนื่องจาก
เรือประมงไทยต้องแล่นเรือผ่านน่านน้ำสากลของประเทศเพื่อนบ้าน
ผมประเมินว่าชาวเรือประมงของไทย จะได้รับผลประโยชน์จากคลองไทยโดยรวม
ที่จะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายจากค่าเชื้อเพลิง ค่าคนงาน
รวมถึงการมีเวลาหาปลาจากทะเลได้เพิ่มมากขึ้นจะมีมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท
ต่อปี
คลองไทยจะนำความเจริญสู่ภาคใต้ และแก้ปัญหา 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้แบบยั่งยืน
สองฝั่งคลองไทยจะกลายเป็นเมืองใหญ่
เป็นเมืองเศรษฐกิจจะมีประชาชนจากทั่วประเทศเป็นล้านคนไปทำงานที่นั่น
เหมือนเมืองท่าที่สำคัญหลายๆ แห่งทั่วโลก
ด้วยในศักยภาพของทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของคลองไทยที่อยู่ในแนวเส้นทางเดินเรือโลก
หากรัฐมีนโยบายให้เป็นพื้นที่เพื่อพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ
อย่างประเทศจีนจะยิ่งเร่งความเจริญเหมือนเมือง Pudong เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2530
ยังมีสภาพเป็นท้องนา ใช้เวลาพัฒนาจากท้องนาประมาณ 15 ปี (ภาพที่ 10)
บริเวณสองฝั่งคลองเป็นเมืองอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก
เป็นศูนย์กลางการให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือทั่วโลก
สองฝั่งคลองไทยจะกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจ รวมแหล่งสร้างธุรกิจใหม่ๆ
ให้เกิดขึ้นอย่างมากมาย อุตสาหกรรมหลากหลายประเภทตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่
เป็นความหวังที่จะเพิ่มการสร้างงานให้กับลูกหลานไทยในอนาคต 2 ถึง 3 ล้านแรงงาน
อย่างถาวรในระยะยาว ที่สำคัญคลองไทยจะนำความเจริญเข้าไปแก้ปัญหา 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้แบบละมุนละม่อม และซึมซับอย่างสันติถาวร
เพราะคลองไทยจะนำความเจริญกระจายไปยังทั่วทั้งภาคใต้
คลองไทยจะเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่
และคนไทยทั้งประเทศได้อย่างมากมายมหาศาล
บริเวณสองฝั่งคลองไทยจะกลายเป็นเมืองใหญ่ทำให้คนไทยทั่วทั้ง ประเทศไม่น้อยกว่า 3 -
4 ล้านคน ไปทำงานสร้างความเจริญให้กับภาคใต้
คนไทยเหล่านี้จะเป็นรั้วปกป้องคุ้มครองแผ่นดินไทยได้เป็นอย่างดี
โดยจะไม่มีอำนาจหรืออิทธิพลใดๆ
ที่จะสามารถต้านทานยับยั้งได้
ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ปัญหาของสิ่งแวดล้อมความสำคัญอยู่ที่การบริหารการจัดการ
ปัญหาที่จะเกิดจากเรือต่างๆ ที่มาผ่านคลอง
เราสามารถวางมาตรการควบคุมเรือที่จะมาใช้คลองไทย
เพื่อป้องกันของเสียจากเรือที่มาใช้คลองไทยได้มากกว่า
การเกิดปัญหาจากสิ่งแวดล้อมของเมืองที่จะตามมา
ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาพร้อมกับการดำเนินโครงการคลองไทยโดยมีการวางผังเมืองที่สมบูรณ์แบบ
เพราะปัญหาของสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากตัวคลองและเรือที่มาใช้บริการคลองเราสามารถควบคุมใช้มาตรการสากลทางกฎหมายได้
และทางด้านการบริหารการจัดการทางวิศวกรรมสามารถตรวจสอบได้
เหมือนกับท่าเรือสำคัญต่างๆ ทั่วโลก
แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมของสังคมเมืองที่ใหญ่และมีความหนาแน่นมากของประชากร
จะตามมาเหมือนกับเมืองใหญ่ๆ คล้ายกรุงเทพฯ การวางผังเมืองที่ดีสมบูรณ์แบบ มีสอง 2
ลักษณะ ที่จะต้องวางแผน แผนที่ 1 วางผังเมืองเชิงป้องกันปัญหา ที่ป้องกันได้ เช่น
ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่นแหล่งน้ำ แหล่งพลังงานไฟฟ้า ระบบขจัดของเสีย
ระบบการคมนาคม ฯลฯ และยังสามารถวางแผนล่วงหน้าได้เลย แผนที่ 2
การวางผังเมืองแบบพัฒนาดำเนินไปคู่ขนานกับการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งในทางปฎิบัติจริงสามารถศึกษาของจริงจากเมืองสำคัญได้ทั่วโลก
ปัญหาเรื่องผลกระทบของสิ่งมีชีวิตของสองฝั่งทะเลไทย
ถ้าเปรียบเทียบคลองไทยกับคลองปานามาถ้าพิจารณาจากดูแผนที่โลก
จะเห็นว่าคลองปานามาอยู่ตรงกลางของทวีปอเมริกา มีผืนแผ่นดินยาวกว่า 40,000 กิโลเมตร
และเป็นส่วนที่แคบที่สุดอยู่ระหว่างกลางทวีปที่ (20,000กิโลเมตร)
กั้นระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรแอตแลนติก
ทำให้สิ่งที่มีชีวิตทางทะเลทั้งสองฝั่งไปมาถึงกันได้ยาก
สิ่งที่มีชีวิตจึงมีความแตกต่างกันเป็นอย่างมาก มีสถาบันการศึกษา สมิทโซเนี่ยน
ของประเทศสหรัฐอเมริกา
เพื่อศึกษาสัตว์ทางทะเลโดยเฉพาะตั้งอยู่ใกล้คลองปานามา
สำหรับคลองไทยถ้าดูจากแผนที่จะเห็นว่าทางตอนใต้ของประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย
จะเป็นแหลมยื่นลงไป ยังมหาสมุทรอินเดียไม่ยาวมาก
แนวคลองไทยจะอยู่ห่างจากปลายแหลมมาลายู ไม่ถึง 1,000 กิโลเมตร
และความต่างระดับของน้ำทะเลคลองไทยของฝั่งทะเลทั้งสองฝั่งแตกต่างกันไม่ถึง 1 เมตร
และน้ำทะเลทั้งสองฝั่งไหลไปมาถึงกันสะดวก
ความแตกต่างของสิ่งมีชีวิตทางทะเลทั้งสองมีผลน้อย
ปลาทูทั้งสองฝั่งมีโอกาสผสมพันธ์กันได้แต่ขนาดอาจจะโตไม่เท่ากัน
ความเค็มของน้ำทะเล
ถ้าวัดความเค็มของน้ำทะเลช่วงฤดูฝนความเค็มทางฝั่งอ่าวไทยจะจืดกว่าน้ำทะเลฝั่งอันดามัน
เพราะน้ำฝนจากที่ต่างๆ จะไหลลงมารวมยังแม่น้ำต่างๆ หลายสาย
พาสิ่งต่างๆที่เป็นมลพิษทางน้ำมาลงที่อ่าวไทยทั้งหมด
ตามปกติทางอ่าวไทยน้ำทะเลมีการไหลหมุนเวียนของน้ำทะเลที่เข้าออกหมุนเวียน 2
ครั้งต่อปี แต่น้ำเสียจำนวนมากที่ไม่สะอาดที่ผ่านการใช้จากบ้านเรือน จากโรงงานต่างๆ
จากภาคเกษตรหลายสิบจังหวัด รวมทั้งประชาชนในกรุงเทพฯ ด้วย ไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยา
แม่น้ำบางประกงหรือแม่น้ำท่าจีน ก็จะมารวมกันอยู่ที่อ่าวไทย
หลังขุดคลองไทยแล้วน้ำทะเลจากทั้งสองฝั่งจะมีการหมุนเวียนถ่ายเทระหว่างสองฝั่งทะเลตลอดเวลา
ซึ่งน้ำทะเลทางฝั่งอันดามันจะมีความสะอาดกว่าจะมาช่วยทำให้น้ำทะเลในฝั่งอ่าวไทยให้สะอาดขึ้น
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เราวิตกอาจจะกลายเป็นผลดีก็ได้
การระมัดระวังปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ดี
แต่อย่าหลงประเด็นจนทำให้ประเทศชาติต้องเสียหายหรือเสียโอกาส
คลองไทยจะช่วยย่นระยะทาง
ประหยัดเวลา ลดการใช้น้ำมัน
และลดมลภาวะของโลก
คลองไทยช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของโลก
และลดมลภาวะทางอากาศของโลกยังประโยชน์ให้กับชาวโลกโดยรวม
มีผลต่อทางด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม
ที่จะทำให้สังคมโลก มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
คลองไทยจะช่วยประหยัดน้ำมันของโลกคิดเป็นเงินมากกว่าหนึ่งล้านล้านบาทต่อปี
(หรือประมาณเท่ากับงบประมาณของประเทศไทยใช้ทั้งปี)
และที่สำคัญยิ่งเมื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลงแล้ว
ก็จะเป็นการลดมลภาวะทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้ของการสันดาบของเครื่องยนต์ ไปด้วย
อากาศเสียที่เกิดขึ้นจะลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศของโลกก็จะลดลงได้มากด้วยการ
ลดปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซน์
ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดม่านแก๊สหรือเรือนกระจก (Green House Effect) ในชั้นบรรยากาศ
ไปปิดกั้นความร้อนจากผิวโลก สร้างความร้อนสะสม บนผิวโลกทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น
จนเกิดผลกระทบต่อระบบหมุนเวียนทางธรรมชาติของโลก ผลของความร้อนที่สะสมบนโลก
ทำให้สิ่งต่างๆ บนผิวโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทำให้ฤดูกาลต่างๆ
ปรับและเปลี่ยนแปลง สร้างความเสียหาย ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง พายุน้ำท่วมผิดปกติ
ต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ บนโลกโดยรวม
หากคิดเป็นเงินค่าใช้จ่ายจากความเสียหายของการเกิดเรือนกระจกจะเป็นจำนวนเงินล้านล้านบาทในแต่ละปี
สำหรับปีที่ผ่านมา พ.ศ. 2545 ประมาณความเสียทั้งหมดกว่า150 Billion US. Dollars
ซึ่งเป็นจำนวนเงินประมาณ 6 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับงบประมาณของประเทศไทย 6
เท่าในปัจจุบัน

สรุปขุดคลองไทยแล้วประเทศไทยจะได้อะไร
1.
คลองไทยจะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ของโลก
และจะมีส่วนสำคัญต่อระบบการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ทางด้านเศรษฐกิจ
และด้านสิ่งแวดล้อมของโลก คลองไทยจะเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยไปตลอดกาล
โดยเฉพาะทางด้านการท่องเที่ยวจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่มนุษย์ร่วมกันสร้าง
สามารถเป็นแหล่งดึงดูดของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
และจะนำรายได้เข้าประเทศไทยได้มากมาย
2. คลองไทยจะสามารถแก้ปัญหา 3
จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อย่างละมุนละม่อม ด้วยสันติวิธีและถาวร
เพราะคลองไทยจะสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญไปทั่วทั้งภาคใต้
ประชาชนคนไทยทั่วทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 3-4 ล้านคน
จะหลั่งไหลเข้ามาอยู่และทำมาหากิน รวมถึงการเริ่มต้นสร้างธุรกิจของคนไทยรุ่นใหม่
รุ่นลูกและรุ่นหลานของไทยในอนาคต
ซึ่งประชาชนคนไทยเหล่านี้จะเป็นกองทัพประชาชนที่ทรงพลัง เป็นเสมือนยิ่งกว่ากองทัพ
พลังที่เข้มแข็งมหาศาลนี้จะปกป้องคุ้มครองแผ่นดินไทยได้เป็นอย่างดี
โดยจะไม่มีอำนาจมืดหรืออิทธิพลใดๆ ที่จะมายับยั้งได้
3.
คลองไทยจะเป็นเสมือนสายธารขนาดใหญ่เชื่อมสองฝั่งทะเลไทย
เป็นเส้นทางเศรษฐกิจก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงินตรา
จากต่างประเทศทั่วโลกไหลเข้าสู่ประเทศไทยได้ทั้งทางตรง
และทางอ้อมได้โดยไม่มีวันหยุด สร้างงาน สร้างรายได้ เป็นแหล่งท่องเที่ยว
แหล่งธุรกิจ แหล่งอุตสาหกรรม จะมีคลังสินค้าเป็นศูนย์กลางกระจายการขนส่ง
และมีคลังเก็บรักษาสินค้าจากประเทศทั่วโลกพร้อมขนส่งทางทะเล
เป็นศูนย์กลางธนาคารธุรกิจการค้าของการเดินเรือระหว่างประเทศ
ตลอดจนเป็นศูนย์รวมภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรผลิตอาหารสำเร็จรูปของไทยเพื่อการส่งออก
เป็นศูนย์จำหน่ายให้บริการอาหาร น้ำดื่ม น้ำใช้ ให้กับเรือต่างๆ
ซึ่งจะสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล
4.
ด้านความมั่นคงของประเทศคลองไทยจะเสริมสมุททานุภาพ
ทางด้านการทหารการขนส่งทางทะเลทางด้านอ่าวไทยหากมีการถูกปิดกั้นด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม
คลองไทยจะเป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญทั้งในยามปกติและยามสงครามของประเทศ
ยามปกติกองทัพเรือสามารถนำกองกำลังเข้าออกเพื่อการซ้อมรบ
ลาดตระเวนตรวจตราป้องกันการเข้ามาของสิ่งผิดกฎหมายตามรอยต่อของเขตน่านน้ำระหว่างประเทศ
และการเคลื่อนย้ายกำลังของกองทัพเรือไปมาทั้งสองฝั่งทะเลไทย
จะไม่สร้างความรู้สึกหวาดระแวงให้กับประเทศเพื่อนบ้านทำให้มีความอิสระ
ลดระยะเวลาเดินทาง และประหยัดงบประมาณ
5.
ทางด้านการประมงจะขยายโอกาสทำให้เรือประมงไทย
ทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยซึ่งมีอยู่กว่า 45,000 ลำ
สามารถไปมาทั้งสองฝั่งได้สะดวกรวดเร็ว ทำให้เรือประมงจำนวนดังกล่าว
สามารถเข้ามาใช้ทรัพยากรทางทะเลของทั้งสองฝั่งทะเลที่มีสัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ได้
โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามันของไทย ซึ่งมีอาณาเขตตั้งแต่แนวเขตน่านน้ำสากลของประเทศ
ไปจนถึงแนวเขตน่านน้ำสากลของประเทศอินเดียได้อย่างเต็มที่
อีกทั้งช่วยลดการใช้จ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องใช้ไปมาระหว่างสองฝั่งทะเลไทย
จากเดิมที่ต้องใช้ปริมาณมากให้ลดน้อยลง
จึงเป็นผลให้เรือประมงไทยสามารถประหยัดทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย
ซึ่งคาดการณ์ว่าในจุดนี้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและเพิ่มผลผลิตรวมกันประมาณไม่น้อยกว่า
50,000 ล้านบาทต่อปี
6. คลองไทยลดพื้นที่ยากจน
เนื่องจากแนวคลองไทยจะตัดผ่านบริเวณทุรกันดารของภาคใต้
จึงทำให้พื้นที่หลายจังหวัดที่แนวคลองไทยผ่านจะได้รับประโยชน์จากความเจริญและความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลประชาชนที่อยู่ทั้งสองฝั่งคลองจะได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง
นอกจากนี้
คลองไทยยังจะช่วยป้องกันน้ำท่วมจากพายุฝนที่ตกอย่างหนักให้ลงทะเลได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยๆ กับ 14
จังหวัดภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
7.คลองไทยจะเพิ่มบทบาทให้กับประเทศไทยได้รับประโยชน์
ให้มีอำนาจต่อรองถ่วงดุลย์อำนาจ ทางเศรษฐกิจ การเมืองและทางทหาร
ระหว่างประเทศมหาอำนาจของโลก เช่น ระหว่างประเทศจีนและประเทศสหรัฐอเมริกา
(ข้อสังเกตปัจจุบัน ประเทศไต้หวัน ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศสิงคโปร์
ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากประเทศสหรัฐอเมริกา)
เพราะศักยภาพของคลองไทยจะเป็นคลองเดินเรือหลักที่สำคัญของโลกทันที
จะมีเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ เรือท่องเที่ยวจากที่ต่างๆ
ทั่วโลกมาใช้คลองไทยเพราะนอกจากจะเป็นการประหยัดเวลา
ประหยัดเชื้อเพลิงแล้วยังจะมีความปลอดภัยมากกว่าเส้น
ทางปัจจุบันที่มีปัญหาโจรสลัดปล้นเป็นประจำบริเวณแถวช่องแคบมะละกา
ศักยภาพของคลองไทยจะสามารถให้เรือผ่านได้มากกว่าคลองหลักๆ ของโลกในปัจจุบัน
โดยเฉพาะรูปแบบของคลองไทยจะเป็นแบบคลองคู่ขนาน ทำให้มีความปลอดภัยสูงจากอุบัติเหตุ
สามารถรองรับให้เรือผ่านได้ 300 ถึง 350 ลำต่อวัน (คลองปานามา 38 ลำต่อวัน
คลองสุเอช 87 ลำต่อวัน) คลองไทยจะรองรับเรือขนาดใหญ่ 300,000 ตัน ถึง 500,000 ตัน
ซึ่งเป็นที่ต้องการของบริษัทเดินเรือทั่วโลก
โดยเฉพาะกรณีหากมีเรือรบหรือเรือประเภทใดๆ
ก็ตามที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศผ่านคลองไทยจะต้องได้รับความเห็น
ชอบจากประเทศไทย
8. ประเทศไทยจะผลิตน้ำมันโดยมีต้นทุนถูกกว่าประเทศสิงคโปร์
คลองไทยจะเพิ่มความสามารถให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโรงกลั่นผลิตน้ำมันที่ต้นทุนต่ำกว่าประเทศสิงคโปร์ในย่านเอเชียได้
เพราะระยะทางการขนส่งน้ำมันใกล้กว่า
และขนาดของเรือน้ำมันที่มีขนาดใหญ่กว่าไม่ต้องอ้อมไปผ่านถึงประ
เทศสิงคโปร์อีกต่อไปทำให้ลดค่าใช้จ่ายมาก
เรือที่มาผ่านคลองไทยจะเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สำคัญมาใช้บริการเติมน้ำมันเชื้อเพลิง
ทำให้มีปริมาณการขายน้ำมันได้มากมาย
มากพอที่ประเทศไทยจะเป็นผู้กำหนดราคาขายน้ำมันเองได้ และปัญหาน้ำมันเถื่อนก็จะหมดไป
ปัจจุบันสิงคโปร์ขายน้ำมันให้กับเรือที่มาใช้บริการ 56,700 ตันต่อวัน สิงคโปร์ขาย 1
เดือนมากกว่าไทยขาย 1 ปี
9. คลองไทยจะช่วยประหยัดค่าขนส่งสินค้าทางเรือ
โดยเฉพาะเรือขนส่งน้ำมัน (Logistics) ทางทะเลทั้งหมดของประเทศไทยทั้งขาเข้าและขาออก
เช่น ประเทศไทยใช้น้ำมันดิบกว่า 800,000 บาเรลล์ต่อวัน
ซึ่งส่วนใหญ่จะนำเข้ามาจากประเทศในตะวันออกกลางโดยทางเรือมายังโรงกลั่นในประเทศเรือขนส่งน้ำมันแต่ละลำจะเสียเวลาไปอ้อมที่ประเทศสิงคโปร์
กว่าจะมาถึงโรงกลั่นน้ำมันที่ประเทศไทย 5 วัน กลับอีก 5 วัน รวมเสียเวลา 10 วัน
หากมีคลองไทยจะเสียเวลาประมาณ 2 วันเท่านั้น
หากคำนวณค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปีประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้มากกว่าแสนล้านบาทต่อปี
เพียงเฉพาะการขนส่งน้ำมันอย่างเดียว เป็นต้น หากพิจารณาถึงการขนส่งสินค้าส่งออก
หรือเข้าของสินค้าอื่นๆ ทางเรือของไทย
ไม่ว่าจะเป็นสินค้าทางภาคอุตสาหกรรมหรือสินค้าทางภาคเกษตร
คิดเป็นเงินที่ยังจะประหยัดได้อีกมากกว่าแสนล้านบาทต่อปี ระบบการขนส่ง (Logistics)
ของประเทศไทย โดยรวมสูงถึง 25% - 30% ของ (GDP) หรือ ประมาณ 1,500,000 ล้านบาท ถึง
1,800,000 ล้านบาท ต่อปี
เฉพาะคลองไทยจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ไม่น้อยกว่าปีละ 200,000 ล้านบาท
ต่อปี
10. คลองไทยจะทำให้ประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญ
ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ ต่างๆ
ในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่อยู่สองฝั่งทะเลไทย
มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกจะได้รับผลประโยชน์ในด้านการประหยัดค่าใช้จ่าย
ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศทางทะเลได้เป็นอย่างมาก เช่น
เรือจากประเทศอินเดียจะส่งสินค้าไปยังประเทศจีนหรือประเทศญี่ปุ่นจะย่นระยะเวลาได้ 5
วัน ในแต่ละเที่ยวคิดเป็นเงินประหยัดหลายสิบล้านบาทต่อเที่ยว ดังนั้น ประเทศต่างๆ
เช่น ประเทศศรีลังกา ประเทศบังกลาเทศ ประเทศพม่า ประเทศลาว ประเทศเขมร
ประเทศเวียดนาม ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี ประเทศฟิลิปปินส์
หรือแม้แต่ประเทศมาเลเซียด้วย ที่จะได้รับประโยชน์จากเส้นทางคลองไทย
ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีบทบาท ต่อการต่อรองทางการทูตกับประเทศมาเลเซียสูงขึ้น
เพราะคลองไทยจะช่วยย่นระยะทาง
และเวลาในการเดินเรือของประเทศมาเลเซียที่จะใช้เรือผ่านคลองไทยเข้าออก
ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย
(ประเทศมาเลเซียขออนุญาตไทยเปิดชายแดนเพื่อขนสินค้าผ่านทางบก
หากมีคลองไทยแล้วเราจะไม่ให้ผ่านทางบกได้)
11.
คลองไทยจะช่วยลดปัญหาเรือนกระจก ย่นระยะทางการเดินเรือ ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
และลดปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศของโลก ในแต่ละปีได้มหาศาล
ซึ่งเป็นที่มาของการเกิดภาวะเรือนกระจกบนชั้นบรรยากาศ
ที่เป็นต้นเหตุของภัยพิบัติทางธรรมชาติ
ที่นับวันแต่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวันซึ่งมีผลถึงประเทศไทย
ปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกา ยังไม่ยอมร่วมเซ็นสัญญาโตเกียวที่ว่าด้วยการลดปัญหา The
Greenhouse Effect ดังนั้น หากคลองไทยได้เกิดขึ้น
คลองไทยจะมีบทบาทมากในการแก้ปัญหานี้
12. เศรษฐกิจไทยยุคไร้พรมแดน
คลองไทยจะเป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ
จากศักยภาพของคลองไทยจะสามารถใช้เป็นแผนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้
โดยที่จะไม่มีประเทศใดๆ ที่จะสามารถมาแข่งขันได้เลย
เพราะตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่พิเศษสุดนี้ มีที่ประเทศไทยแห่งเดียว
คลองไทยจะเป็นขุมทรัพย์ทางทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีวันหมด
จะเป็นช่องทางสามารถสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งและมั่นคงได้ยาวนาน
การแข่งขันทางการค้าบนเวทีการค้าเสรีโลก (WTO) จากประเทศสมาชิก 147 ประเทศ
ต่างก็ใช้กลยุทธ์ทางการค้ากันเต็มที่
อนาคตการค้าขายระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสินค้าประเภทอุตสาหกรรมหรือสินค้าเกษตรหรือแม้แต่ธุรกิจให้บริการแนวโน้มมีการแข่งขันกันรุนแรงยิ่งขึ้นทุกวัน
เราและท่านต่างทราบกันดีว่าการส่งออกสำหรับสินค้าภาคเกษตรของประเทศไทย ทั้งหมด
รายได้ยังน้อยกว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเสียอีก แต่ถึงอย่างไรก็ตาม
การเกษตรก็จะยังคงมีความสำคัญอยู่ เพราะประเทศไทยจะต้องมีอาหารที่สมบูรณ์พอเพียง
แต่การคาดหวังจะให้สินค้าจากทางภาคเกษตร
เป็นธงนำทางเศรษฐกิจที่จะนำพาไปสู่ความมั่งคั่งของประเทศ
แทบจะมองไม่เห็นความสว่างเลย ข้อมูลของธนาคารแห่งชาติ
แสดงถึงรายได้ทางภาคเกษตรทั้งหมดของประเทศไทยประมาณ 9-10 เปอร์เซ็นต์
ของมูลค่าผลิตภัณท์มวลรวมของประเทศเท่านั้น หรือประมาณ 500,000 ล้านบาท
แต่ใช้ประชากรผลิตประมาณครึ่งประเทศ
รายได้ยังน้อยกว่ารายได้จากภาคการท่องเที่ยวซึ่งได้ถึงประมาณ 700,000 ล้านบาท
หรือแม้แต่สินค้าภาคอุตสาหกรรมก็ตาม
มีสินค้าอุตสาหกรรมหลายอย่างของประเทศไทยที่ส่งออก
รายได้ที่แท้จริงที่ได้ก็เป็นเพียงค่าแรงงานในฐานะผู้รับจ้างผลิต
หรือไม่ก็เป็นผู้รับประกอบชิ้นส่วนเป็นหลักเสียส่วนมาก
ตัวเลขจำนวนเงินมูลค่าของสินค้าภาคอุตสาหกรรมที่ส่งออกดูเหมือนจะสูงมาก
แต่รายได้ที่แท้จริงที่ไทยได้รับคือ ค่าแรงงานประมาณ 25 - 30 เปอร์เซ็นต์
ของมูลค่าที่ส่งออกเท่านั้น
เมื่อประมาณ 20 กว่าปี
ที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านของเราหลายประเทศ เช่น ประเทศจีน ประเทศอินเดีย
ประเทศเกาหลีใต้ เคยเป็นลูกค้ารายใหญ่ของไทย
แต่ตอนนี้กำลังจะกลายมาเป็นพ่อค้ารายใหญ่ของไทย ต่อไปอาจจะเป็นประเทศเวียดนาม
ประเทศเขมร ประเทศลาว หรือประเทศพม่า
เพราะประเทศดังกล่าวยังมีต้นทุนด้านแรงงานต่ำและทรัพยากรทางธรรมชาติยังมีอยู่มาก
ซึ่งตอนนี้มีประเทศบางประเทศที่ร่ำรวยแต่ไม่มีทรัพยากรในประเทศมากนัก
ได้ไปลงทุนผลิตสินค้าทางด้านการเกษตรใน 4 ประเทศดังกล่าว
ในอนาคตข้างหน้าอาจจะมาผลิตสินค้าด้านเกษตร (GMO) ขายแข่งกับประเทศไทยต่อไปก็ได้
แต่สำหรับประเทศมาเลเซียตอนนี้ความเจริญแซงหน้าประเทศไทยไปนานแล้ว
ดังนั้น
โครงการคลองไทยจึงเป็นความหวังและโอกาสของประเทศที่จะใช้เป็นธงนำสร้างความ
เข้มแข็งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของไทยได้ เป็นบุญของแผ่นดินไทยจริงๆ
ที่มีทำเลที่วิเศษ เป็นทรัพยากรที่ใช้ไม่มีวันหมด
ณ
วันนี้ถึงเวลาหรือยังที่เราน่าจะให้ข้อมูลดังกล่าวกับประชาชน ได้มีส่วนร่วมรับรู้
รับทราบ และ
มีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับโครงการนี้กันเสียทีว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นจะก่อให้เกิดประโยชน์หรือความเสียหายมากกว่ากัน
----------------------------------------------------
ใครอยากทราบรายละเอียดเข้าไปที่
www.thai-canal.org
http://www.thai-canal.com/index.php
เราเป็นคนไทยอย่าปล่อยให้เรื่องนี้เงียบเลยนะช่วยกันบอกต่อๆกันและแสดงความคิดเห็นด้วยนะ
โดย : wat
อีเมล์ : loveyou1978@hotmail.com
วันที่ : 2005-07-06 14:04:59